การศึกษานอกระบบ

ความหมายและคำนิยามของการศึกษานอกระบบ

ระบบการศึกษาของไทย เป็นระบบที่ครอบคลุมความต้องการและสภาพสังคมในปัจจุบันได้ค่อนข้างดีทีเดียว แต่มีคำหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันเสมอก็คือ การศึกษานอกระบบ (กศน.) คำนี้คืออะไร แล้วเป็นการศึกษาแบบไหน เราจะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับระบบการศึกษากลุ่มนี้ให้ฟังกัน

ระบบการศึกษาของไทย

ก่อนจะไปว่ากันถึงเรื่องของการศึกษานอกระบบ เรามาทำความรู้จักระบบการศึกษาของไทยกันก่อนดีกว่า ระบบการศึกษาของไทยนั้น แบ่งออกเป็นสามระบบ หนึ่งการศึกษาในระบบ อันนี้เราน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วเป็นการศึกษาตั้งแต่โรงเรียนไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา แบบที่เห็นได้ทั่วไป สองการศึกษานอกระบบ (กศน.) และสามการศึกษาตามอัธยาศัย อันนี้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการศึกษาตามปราชญ์ชาวบ้าน การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่า การศึกษานอกระบบ (กศน.) คือหนึ่งในระบบการศึกษาของไทย

การศึกษานอกระบบคือ

ความหมายหรือ คำนิยามของการศึกษานอกระบบคือ การศึกษานอกโรงเรียน นอกระบบการศึกษาเดิม โดยให้หลักสูตรตั้งแต่เนื้อหาการเรียน วิธีการเรียน จนถึงวิธีการวัดและประเมินผลที่มีความสอดคล้อง ยืดหยุ่นกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของผู้เรียน การจัดการศึกษานอกระบบจะไม่มีการกำหนดอายุ สถานที่ ทุกอย่างจะเป็นการตกลงความร่วมมือกันระหว่างผู้เรียน และผู้สอน เพื่อเดินหน้าในการจัดการเรียนการสอนไปพร้อมกัน

การศึกษานอกระบบ

การศึกษานอกระบบในไทย

สำหรับการศึกษานอกระบบ จะจัดการศึกษาโดยให้มีครูประจำกลุ่ม(คล้ายกับครูที่ปรึกษา) จากนั้นก็จะนัดนักศึกษามาพบกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำกิจกรรมตามเนื้อหาสาระวิชาที่เรียนในแต่ละภาคเรียน เมื่อทำกิจกรรมเสร็จสิ้นตามกระบวนการ ก็จะมีการทดสอบประจำภาคเรียน และการทดสอบระดับชาติเพื่อเป็นการวัดสมรรถนะของผู้ผ่านการศึกษานอกระบบอีกครั้งหนึ่ง โดยศูนย์การเรียนการศึกษานอกระบบจะใช้โรงเรียนในพื้นที่เป็นฐาน ห้องสมุดประชาชน หรือ อาจจะมีการตั้งอาคารขนาดเล็กขึ้นมาต่างหากก็ได้

การศึกษานอกระบบในไทยนั้น จะมีตั้งแต่การเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา, ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เรียนและวุฒิการศึกษาเดิมว่าอยู่ที่การศึกษาระดับใด

ประเภทของการศึกษานอกระบบ

การศึกษานอกระบบนั้น มีรูปแบบการจัดการศึกษาแตกย่อยออกไปหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนให้ได้มากที่สุด แต่ก็ได้มีการกำหนดรูปแบบภาพกว้างๆเอาไว้ทั้งหมดสี่รูปแบบคือ

1. การศึกษาแบบต่อเนื่อง เป็นการเข้ามาศึกษาเพื่อเพิ่มวุฒิการศึกษา จากนั้นนำวุฒิดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนาตัวเองในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง การสมัครงานใหม่
2. การศึกษาทางไกลเป็นการศึกษานอกระบบแบบที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ การศึกษานอกระบบจะตอบโจทย์ชีวิตมากกว่าเนื่องจากไม่ต้องเข้าเรียนทุกวัน และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านทางไกล ช่วยให้ผู้เรียนประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่เสียเวลาเดินทาง
3. การศึกษาผู้ใหญ่ เป็นการศึกษาของกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป เข้ามาศึกษาเพื่อเพิ่มวุฒิให้กับตัวเองหรืออยากเรียนเพื่อพัฒนาตัวเองก็ได้
4. การศึกษาของชุมชน การศึกษานอกระบบจะจัดการศึกษาให้เกี่ยวโยงกับสภาพสังคม ชุมชนที่ศูนย์ตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาชีพ และการบริการในพื้นที่ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพสังคม ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจสภาพแวดล้อมของตัวเอง จนถึงนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ได้จริงสังคมของตัวเอง

ถือว่าการศึกษานอกระบบเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญของระบบการศึกษาไทย ที่จะช่วยเหลือผู้คนอีกมากมายให้เข้าถึงการศึกษาได้ สามารถนำวุฒิการศึกษาไปพัฒนาต่อยอดในการเรียนชั้นสูงขึ้นไป หรือการทำงานก็ได้ โดยไม่ให้ข้อจำกัดของผุ้เรียนมาเป็นอุปสรรค

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ kameoka-jc.net

Releated